คนละครึ่ง-ราคาพืชผลเกษตรขึ้น ดันดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดรอบ 9 เดือน




รายละเอียดโพส! admin
เศรษฐกิจ  
คนละครึ่ง-ราคาพืชผลเกษตรขึ้น ดันดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดรอบ 9 เดือน
  • 0 ตอบ
  • 4489 อ่าน
« admin»เมื่อ: 04 ธันวาคม 2563, 07:30:29 am »


โพล ม.หอการค้าไทย ชี้อานิสงส์ “คนละครึ่ง” และราคาสินค้าเกษตรเพิ่มดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.63 เพิ่มขึ้นทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่ มี.ค.63 แต่ยังกังวลการเมือง ทำดัชนีเสถียรภาพการเมืองต่ำสุดรอบ 14 ปี 3 เดือน รวมถึงกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจากโควิด ว่างงานทำขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ ด้านความเชื่อมั่นนักลงทุนนิวไฮรอบ 2 ปี เข้าสู่ภาวะร้อนแรง คาดปีหน้าหุ้นไทยกลับมายืน 1,580 จุด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.63 ที่สำรวจประชาชน 2,241 คนทั่วประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และปรับตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค.63 เป็นต้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 45.6 เพิ่มขึ้นจาก 43.9 ในเดือน ต.ค.63 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 50.0 เพิ่มขึ้นจาก 49.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 61.6 เพิ่มจาก 59.9 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ 52.4 เพิ่มจาก 50.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 36.3 เพิ่มจาก 35.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 60.1 เพิ่มจาก 58.5

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ส่งผลให้กำลังซื้อในหลายจังหวัดเริ่มดีขึ้น แม้ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองไทย หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในเดือน ต.ค. จนทำให้ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวต่ำสุดในรอบ 171 เดือน หรือ 14 ปี 3 เดือน โดยดัชนีเดือน พ.ย.อยู่ที่ 23.0 ลดจาก 24.7 ในเดือน ต.ค.63 และดัชนีในอนาคตอยู่ที่ 29.4 ลดจาก 31.4 รวมถึงยังกังวลภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบของโควิด-19

อย่างไรก็ตามแม้ดัชนีดีขึ้นทุกรายการ แต่ยังคงต่ำกว่าระดับปกติ คือระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากปัญหาการเมืองในประเทศและวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว การส่งออกและธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น แม้ผู้บริโภคจะมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง เพราะได้รับผลทางจิตวิทยาในเชิงบวก หลังรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องหลายมาตรการ โดยเฉพาะ “คนละครึ่ง” ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 64 หรือจนกว่าโควิด-19 ของโลกจะคลายตัวซึ่งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมในไตรมาส 4 ว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้แค่ไหน และการเมืองจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอย่างมาก”

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 161.41 จุด พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี และเพิ่มขึ้นกว่า 161% จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 61.27 จุด และมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” หรือ Very Bullish โดยปัจจัยสนับสนุนมากที่สุด คือนักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุน ตามด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงผลสำเร็จของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือการเมืองในประเทศ การถดถอยของเศรษฐกิจและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ขณะที่นักลงทุนมองตลาดหุ้นไทยปี 64 กลับมายืนเหนือระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่บริเวณ 1,580 จุดได้ โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและกระแสฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่คาดว่าจะไหลกลับ หลังนักลงทุนต่างชาติเริ่มมองหาการลงทุนที่ยังมีอัพไซด์และเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่อิงวัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้นและฐานที่ต่ำในปีนี้ ประกอบกับคาดว่าอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ปีหน้าจะโตกว่า 40% เพราะหุ้นส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา หุ้นไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 17.9% สูงสุดในเอเชียและเกือบสูงสุดของโลก จากความคาดหวังภาคการท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับมาและความคืบหน้าวัคซีนต้านโควิด-19 จึงเป็นไปได้ยากที่หุ้นไทยจะปรับตัวลงแรงเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ แต่อาจเห็นแรงเทขายทำกำไรระยะสั้นบ้าง ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ คงไม่มีผลต่อตลาดหุ้นมากนัก เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงชั่วคราวหากควบคุมได้ เชื่อว่าหุ้นไทยน่าจะอยู่ในทิศทางที่ดี ทั้งนี้ คาดว่าตลาดหุ้นจะทรงตัวระดับนี้ยาวไปจนถึงสิ้นปี.

ที่มา ข่าวไทยรัฐ